ขอให้ผู้ใฝ่ธรรมทุกท่านมีความสุขกายสุขใจเถิด

ศาสนพิธี กฐิน

กฐิน
ผ้าที่ควรทำกฐินได้ มี ๕ ข้อคือ

๑. ผ้าใหม่ก็ได้
๒. เป็นผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาดก็ได้
๓. เป็นผ้าเก่าก็ได้
๔. เป็นผ้าบังสุกุลก็ได้
๕. เป็นผ้าตกตามร้านก็ได้

ผ้ากฐินใครถวายจึงจะใช้ได้
อันผู้ใดผู้หนึ่งก็ตาม เป็นสหธรรมิกด้วยกันก็ตาม ถวายแล้วแก่สงฆ์ เป็นของใช้ได้
ผ้าต้องห้ามมิให้ใช้เป็นวัตถุแห่งกฐิน
ห้ามผ้าที่ไม่ได้เป็นสิทธิ์ เช่น ผ้าขอยืมเขามา
ห้ามผ้าที่ได้มาโดยอาการ มิชอบ คือทำนิมิต และพูดเลียบเคียง และผ้าเป็นนิสสัคคีย์ แม้ผ้าที่ได้มาแล้วโดยทางบริสุทธ์ แต่เก็บค้างคืนไว้แล้ว ก็ห้ามไม่ให้เอามาเป็นผ้ากฐิน
จำนวนสงฆ์ผู้รับผ้ากฐิน
สงฆ์ผู้จะให้รับผ้ากฐินนั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป เพราะจะต้องจัดเป็นบุคคลรับผ้ากฐินเสียรูปหนึ่ง เหลืออีก ๔ รูป จะได้เข้าสวดเป็นสงฆ์ มากกว่า ๕ รูปขึ้นไปก็ใช้ได้ น้อยกว่า ๕ รูป ใช้ไม่ได้ฯ
พระอรรถกถาจารย์อนุญาตให้เอาภิกษุผู้จำพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา) เข้าบรรจบ เป็นคณปูรกะ(ภิกษุที่มาสมทบ) ก็ได้ เอาภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ต่างถิ่นมาสวดกรรมวาจาก็ได้ ภิกษุผู้จำพรรษาต้น (ปุริมพรรษา) เท่านั้นย่อมได้อานิสงส์ ภิกษุนอกนี้ย่อมไม่ได้
แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงมีมติว่า ห้ามไม่ให้เอาภิกษุอื่นมาเป็นคณปูรกะหรือสวดกรรมวาจาโดยอ้างพระบาลีในมหาวรรคตอนกฐินขันธกะว่า
ตัญเจ นิสสีมัฏโฐ อะนุโมทะติ เอวัมปิ อะนัตถะตัง โหติ.
ซึ่งแปลว่า กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้ตั้งอยู่นอกสีมาอนุโมทนา.
องค์คุณแห่งภิกษุควรรับผ้ากฐิน
ในคัมภีร์บริวารกล่าวว่า ภิกษุประกอบด้วย องค์ ๘ ประการ ควรกรานกฐิน องค์ ๘ นั้นคือ
๑. รู้จักบุพพกรณ์
๒. รู้จักถอนไตรจีวร
๓. รู้อธิษฐานไตรจีวร
๔. รู้จักกราน
๕. รู้จักมาติกา คือ หัวข้อแห่งการเดาะกฐิน
๖. รู้จักปลิโพธ กังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน
๗. รู้จักการเดาะกฐิน
๘. รู้อานิสงส์กฐินฯ
การให้ผ้ากฐินนั้น ธรรมเนียมต้องต้องอปโลกน์ ให้ผ้าบริวารผ้ากฐินก่อน แล้วจึงสวดกรรมวาจาฯ คำอปโลกน์ให้ผ้ากฐินนั้นไม่มีในพระบาลี แต่ในธรรมเนียมเดิมว่าในภาษาไทย คณะมหานิกายยังใช้อยู่ คณะธรรมยุตว่าในภาษามคธฯ (คำอปโลกน์จักกล่าวข้างหน้าฯ)

บุพพกรณ์แห่งการกรานกฐิน
ภิกษุได้รับผ้ากฐินอันสงฆ์ให้แล้ว พึงทำบุพพกรณ์ให้แล้วเสร็จในวันนั้นฯ ธุระอันจะพึงกระทำเป็นเบื้องต้นแห่งกรานกฐินเรียกว่าบุพพกรณ์ สงเคราะห์ด้วยประการ ๗ คือ
ซักผ้า ๑, กะผ้า ๑,
ตัดผ้า ๑, เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว ๑,;
เย็บเป็นจีวร ๑, ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว ๑,
ทำกัปปะคือ พินทุ ๑ ฯ

ธรรมเนียมที่ใช้ผ้าเย็บเสร็จแล้วเป็นผ้ากฐิน
ในภายหลังมา มีธรรมเนียมใช้ผ้าที่เย็บเสร็จมาแล้วเป็นผ้ากฐิน ในอรรถกถามหาวัคค์ว่า เมื่อสงฆ์ได้ผ้ากฐินอย่างนั้นแล้ว ถ้าผ้ากฐินมีบริกรรมสำเร็จแล้วดีอยู่ ถ้าหาไม่แม้ภิกษุรูปหนึ่งจะไม่ทำด้วยถือว่าเป็นเถระ หรือเป็นพหูสูต หาได้ไม่ ทุกรูปจงประชุมกัน ทำการซัก การเย็บ การย้อม ให้สำเร็จฯ
คำว่าผ้ากฐินนั้นมีบริกรรมสำเร็จแล้วดีอยู่นั้น หมายเอาผ้าที่มาเสร็จแล้วหรือหมายว่า ภิกษุผู้รับผ้านั้น ขวนขวายทำสำเร็จเป็นส่วนตนสุดแต่จะสันนิษฐานฯ

พิธีกรานกฐิน
เมื่อสวดจบแล้ว บุพพกรณ์เสร็จแล้วผ้ากฐินนั้น ทำเป็นจีวรชนิดใด พึงปัจจุทธรณ์(ถอน) จีวรชนิดนั้นของเดิมแล้ว อธิษฐานจีวรใหม่โดยชื่อนั้น
วิธีถอน (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยก ผ้าเก่าทับผ้าใหม่แล้วกล่าวคำถอนว่า

สังฆาฏิ      อิมัง สังฆาฏิง ปัจฺจุทะธะรามิ,
จีวร         อิมัง อุตตะราสังคัง ปัจฺจุทะธะรามิ,
สบง         อิมัง อันฺตะระวาสกัง ปัจฺจุทะธะรามิ,
(จะถอนผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)
(โบราณ) ท่านให้ยกผ้าใหม่ทับผ้าเก่าแล้วกล่าวคำอธิษฐานว่า
สังฆาฏิ      อิมัง สังฆาฏิง อธิฏฺฐามิ,
จีวร         อิมัง อุตตะราสังคัง อธิฏฺฐามิ,
สบง         อิมัง อันตะระวาสะกัง อธิฏฺฐามิ,
(จะอธิษฐานผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

เมื่อจะกราน ให้หันหน้าไปทางพระประธาน กราบพระ ตั้งนโม ๓ หน แล้วว่ากรานให้สงฆ์ได้ยินทั่วกัน จะกรานผ้าสังฆาฎิ, อุตตราสงค์ หรือ อันตรวาสกผืนใด ผืนหนึ่งก็ได้

คำกรานกฐิน
สังฆาฏิ ๐ อิมายะ สังฆาฏิยา กะฐินัง อัตถะรามิ,
ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสังฆาฏิผืนนี้,  (กล่าว ๓ หน)
จีวร ๐ อิมินา อุตตะราสังเคนะ กะฐินัง อัตถะรามิ.
ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าจีวรผืนนี้, (กล่าว ๓ หน)
สบง ๐ อิมินา อันตะระวาสะเกนะ กะฐินัง อัตถะรามิ.
ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสบงผืนนี้, (กล่าว ๓ หน)
เมื่อกรานจะพึงทำอย่างไรด้วยจีวรนั้น ท่านมิได้กล่าวไว้ แต่โดยอาการที่ทำกันมามือจับหรือลูบผ้านั้นด้วยในขณะเปล่งคำกรานนั้น.

คำให้สงฆ์อนุโมทนากฐิน
ครั้นกรานเสร็จแล้ว ภิกษุผู้ครองผ้ากฐิน พึงนั่ง กระโหย่งแล้ว พึงหันหน้ามาหาสงฆ์ทั้งปวง ประนมมือกล่าวว่า
อัตถะตัง ภันเต* สังฆัสสะ กะฐินัง, ธัมมิโก กะฐินัตถาโร, อะนุโมทะถะ. (กล่าว ๓ หน)
ท่านเจ้าข้า* กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านทั้งหลาย อนุโมทนาเถิด.
(*ถ้าผู้ครองผ้ากฐินเป็นผู้แก่พรรษาที่สุดในสงฆ์ ให้เปลี่ยนคำว่า ภันเต เป็น อาวุโส และเปลี่ยน ท่านเจ้าข้า เป็น ท่านทั้งหลาย )

คำอนุโมทนากฐิน
ภิกษุเหล่านั้นพึงประนมมือ กล่าวคำอนุโมทนาว่า .

ผู้แก่พรรษากว่า เป็นผู้ครองผ้ากฐิน ๐
อัตถะตัง อาวุโส สังฆัสสะ กะฐินัง, ธัมมิโก กะฐินัตถาโร อนุโมทามะ. (กล่าว ๓ หน)
ท่านผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์ กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าทั้งหลาย*อนุโมทนา.

ผู้อ่อนพรรษากว่า เป็นผู้ครองผ้ากฐิน ๐
อัตถะตัง ภันเต สังฆัสสะ กะฐินัง, ธัมมิโก กะฐินัตถาโร อนุโมทามะ. (กล่าว ๓ หน)
ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์ กรานแล้ว การกรานกฐิน เป็นธรรม ข้าพเจ้าทั้งหลาย* อนุโมทนา.
(* ถ้ามีเพียงรูปเดียว ให้เปลี่ยน อนุโมทามะเป็น อนุโมทามิเปลี่ยน ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็น ข้าพเจ้า”)
ในคัมภีร์บริวารแก้ว่า สงฆ์และคณะหาได้กรานกฐินไม่, บุคคลกรานกฐิน, แต่พระสงฆ์และคณะได้อนุโมทนา และเพราะบุคคลได้กราน ได้ชื่อว่าสงฆ์ คณะได้กรานกฐิน บุคคลได้กรานกฐิน.
ของบริวารนอกจากผ้ากฐินเป็นของใคร
ข้อนี้พรรณนาไว้ในอรรถว่า ถ้าเป็นและจีวร อันเหลือ (คือ ผ้าอื่นจากที่ยกชื่อขึ้นกรานกฐินในไตรจีวร) ของภิกษุ ผู้กรานเป็นของคร่ำคร่าด้วย พึงอปโลกน์ให้แก่เธอจนพอ เหลือจากนั้นให้แจกภิกษุอันเหลือ โดยลำดับแห่งผ้าจำนำพรรษาที่เรียกวัสสาวาสิกะ หรือ โดยพรรษา ตั้งแต่เถระลงมา ถ้าเป็นครุภัณฑ์ห้ามมิให้แจกกัน แต่ถ้าทายกถวายเฉพาะภิกษุ ผู้กรานกฐิน กล่าวว่า
เยน อมฺหากํ กฐินํ คหิตํ ตสฺเสว เทม
แปลว่า ภิกษุรูปใดได้รับผ้ากฐินของพวกข้าพเจ้าๆถวายแก่ภิกษุรูปนั้น เช่นนี้สงฆ์ไม่เป็นใหญ่ ถ้าเขาไม่จำกัดไว้ถวายแล้วก็ไป สงฆ์เป็นใหญ่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ทรงเตือนไว้ในวินัยมุขเล่ม ๓ ว่าคำในอรรถกถานี้ควรถือประมาณ

มาติกา ๘
คือ ลักษณะเป็นเหตุให้กฐินเดาะ
๑. ปกฺกมนฺติกา หลีกไปเป็นที่สุด
๒. นิฏฐานนฺติกา ทำจีวรเสร็จลงเป็นที่สุด
๓. สนฺนิฏฐานนฺติกา ทำจีวรเสียหายเป็นที่สุด
๔. นาสนนฺติกา ทำจีวรเสียหายเป็นที่สุด
๕. สวนนฺติกา มีความได้ยินข่าวเป็นที่สุด
๖. อาสาวจฺเฉทิกา ฃาดความหวังจีวรเป็นที่สุด
๗. สีมาติกฺกนฺตินา มีความก้าวล่วงเขตเป็นที่สุด
๘. สหุพฺภาร พร้อมด้วยความเดาะ
๑. ปกฺกมนฺติกา คือ ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้วถือเอาจีวรที่ได้ทำแล้วหลีกไป ด้วยไม่คิดกลับ อย่างนี้กฐินเดาะกำหนด ด้วยหลีกไป นี้จีวรปลิโพธขาดก่อนอาวาสปลิโพธขาดทีหลัง
๒. นิฏฐานนฺติกา คือ ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้วถือเอาผ้าที่ทำค้าง หรือ ยังไม่ได้ทำ คิดจะไปทำที่อื่น อย่างนี้กฐินเดาะ กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จนี้ เจ้าอาวาสปลิโพธขาดทีหลัง
๓. สนฺนิฏฐานนฺติกา คือ ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ยังมีอาลัยในอาวาส คิดจะไปทำจีวรที่อื่น ได้ทำจีวร หรือจีวรวิบัติไปเลยเธอสันนิษฐานว่าจักไม่ทำจีวรละ เราจักอยู่ ณ ที่นี้อย่างนี้ กฐินเดาะ กำหนดด้วยสันนิษฐานนี้ ปลิโพธทั้งสองขาดพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลัง
๔. นาสนนฺติกา คือ ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว จีวรอันเธอกำลังทำอยู่นั้น ทำเสีย หรือ หายเสีย อย่างนี้กฐินเดาะ กำหนดด้วยความเสียหาย หรือความหายนี้ อาวาสปลิโพธขาดก่อน จีวรปลิโพธขาดทีหลัง
๕. สวนนฺติกา คือ ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยคิดจะกลับ และทำจีวรในภายนอกสีมา เสร็จแล้วได้ยินข่าวว่าใน อาวาส(เดิม)นั้น กฐินเดาะ เสียแล้ว อย่างนี้กฐินเดาะ กำหนดด้วยได้ยินข่าวนี้ ไม่เกี่ยวด้วยปลิโพธทั้งสอง แต่ว่าบาลี จีวรปลิโพธ ขาดทีหลัง.
๖. อาสาวจฺเฉทิกา คือ ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วหลีกไปด้วย คิดจะไม่กลับ มีความหวังว่าจะได้จีวร และ จักทำข้างหน้า แต่หาได้ไม่ อย่างนี้กฐินเดาะกำหนดด้วยสิ้นหวังนี้ อาวาสปลิโพธขาดก่อน จีวรปลิโพธขาดทีหลัง
๗. สีมาติกฺกนฺตินา คือ ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ถือเอาจีวรที่ยังมิได้ทำหลีกไป เธอทำจีวรเสร็จแล้วคิดจะกลับๆ จนล่วงคราวเดาะกฐิน อย่างนี้กฐินเดาะกำหนดด้วยล่วงเขต นี้จีวรปลิโพธขาดก่อน อาวาสปลิโพธขาดทีหลัง
๘. สหุพฺภารา คือ ภิกษุที่กรานกฐินแล้วถือเอาจีวรที่ยังไม่ได้ทำออกไป ด้วยคิดจะทำมีอาลัยว่าจะกลับๆก็มาทันวันเพ็ญเดือน ๔ อย่างนี้ การเดาะกฐินของเธอพร้อมกับภิกษุทั้งหลายในอาวาสนี้ปลิโพธทั้ง ๒ ขาดพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลัง.

ปลิโพธ
มี ๒ อย่าง คือ อาวาสปลิโพธ ๑, จีวรปลิโพธ ๑
ภิกษุกรานกฐินแล้ว มีกังวลอาลัยอยู่ในอาวาส หรือหลีกไปผูกใจอยู่ว่าจะกลับ ชื่อว่ายังมี อาวาสปลิโพธอยู่ ภิกษุยังไม่ได้ทำจีวรเลยหรือทำค้างอยู่ หรือหายเสียเวลาทำ แต่ยังไม่สิ้นความหวังที่จะได้จีวรอีก ชื่อว่ายังมีจีวรปลิโพธ ถ้าตรงกันข้ามทั้ง ๒ ปลิโพธนั้น เป็นสิ้นเขตจีวรกาลเรียกว่า กฐินเดาะ

อานิสงส์กฐิน
๑. อนามนฺตจาโร เที่ยวไปในสกุลไม่ต้องบอกลา คือไม่เป็นอาบัติด้วยจาริตตสิกขาบทที่ ๖ แห่ง อเจลกวัคค์
๒. อสมาทานจาโร เที่ยวไปโดยไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำหรับคือ ไม่เป็นอาบัติด้วยทุติยกฐิน สิกขาบทที่ ๒ แห่งจีวรวัคค์
๓. คณโภชนํ ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ คือไม่เป็นอาบัติ ด้วยสิกขาบท ๒-๓ แห่งโภชนวัคค์
๔. ยาวทตฺจีวรํ เก็บอดิเรกจีวรและอกาลจีวรไว้ตามปรารถนา คือไม่เป็นอาบัติด้วยสิกขาบท ๑-๓ แห่งจีวรวัคค์
๕. โย จ ตตฺถ จีวรุปฺปาโท จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกภิกษุคือผู้ได้กรานกฐิน
(ทั้งได้โอกาสขยายเขตจีวรกาล ให้ยาวออกไปตลอด ๔ เดือน ฤดูเหมันต์ด้วย)
ทั้ง ๕ นี้เป็นอานิสงส์จำพรรษา และอานิสงส์กฐิน



การเดาะกฐิน
หมายถึง กฐินเสียหาย ใช้ไม่ได้ หมดประโยชน์ หมดอานิสงส์ สิ้นเขตจีวรกาล
เหตุที่ทำให้กฐินเดาะ มี ๓ ประการ คือ
๑. ปลิโพธขาดทั้ง ๒ อย่าง
๒. สงฆ์พร้อมใจกันเดาะกฐินเสียในระหว่าง
๓. สิ้นเขตอานิสงส์กฐิน

คำประกาศผ้ากฐิน
ภันเต ภิกษุสังโฆ, พระสงฆ์ผู้เจริญทั้งหลาย, จงฟังคำประกาศของข้าพเจ้า ในกาลบัดนี้, ได้มีผ้ากฐินทานกับผ้าอานิสงส์บริวารทั้งหลายเหล่านี้, ซึ่งเป็นของทานบดี มีคุณ...พร้อมด้วย...ได้มีจิตประกอบด้วยกุศลศรัทธา, จึงพร้อมเพรียงกันน้อมนำผ้ากฐินทานนี้ มาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ ณ อาวาสนี้, ผ้ากฐินนี้มีความบริสุทธิ์ดุจดังผ้าทิพย์, อันเลื่อนลอยมาโดยนภากาศได้มาตกลงสู่ท่ามกลางสงฆ์, แต่จะได้เฉพาะเจาะจงว่าจะให้เป็นของภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ก็หามิได้,
โดยมีคำพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า, พระสงฆ์ พระเถรานุเถระทั้งปวง, จงพร้อมใจกันยอมอนุญาตยกให้แด่พระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด, เพื่อจะได้กระทำกฐินัตถารกิจให้แด่พระภิกษุหนึ่งรูปใด, เพื่อจะได้กฐินัตถารกิจให้สำเร็จประโยชน์ได้,
และยังมีคำพระอรรถกถาจารย์, ซึ่งเป็นผู้รู้จักคำของพระบรมพุทธาฯ ได้สังวรรณาว่า, พระภิกษุรูปใดได้ประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา สามารถรู้ธรรม ๘ ประการ มีบุรพกิจ เป็นต้น, จึงสมควรที่จะกระทำกฐินัตภารกิจได้, ก็ในโอกาสนี้พระสงฆ์ทั้งปวงที่กำลังประชุม ณ ศาลา โรงธรรมแห่งนี้, จงพิจารณาดูว่า สมควรแด่พระภิกษุรูปใด, ก็พร้อมกันยอมยกให้แด่พระภิกษุสงฆ์รูปนั้น, เพื่อจะได้กระทำกรานกฐินนี้โดยสำเร็จ..เทอญ.

คำอุปโลกน์กฐิน
ภันเต สังโฆ, ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ,ขอท่านทั้งหลายจงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า, ณ โอกาสนี้ ข้าพเจ้าพิจารณา ผ้ากฐินทาน เห็นชอบสมควรแก่... ซึ่งอยู่จำพรรษา ณ อาวาสนี้, เพราะท่านเป็นผู้มีศีล สมาธิคุณ ประกอบด้วยสติปัญญาบริสุทธิ์สะอาด, จึงสามารถจะกระทำกฐินัตถารกิจให้สำเร็จได้ โดยถูกต้อง ตามคำพระบรมพุทธานุญาต, การที่ข้าพเจ้าได้ประกาศไปในท่ามกลางสงฆ์นี้นั้น, ควรมิควรแล้วแต่พระภิกษุสงฆ์ทรงพิจารณา, ถ้าแม้ว่าภิกษุรูปหนึ่งรูปใดเห็นไม่สมควรแล้ว จงกล่าวทักท้วงขึ้น ณ ที่ประชุมนี้ เมื่อเห็นสมควรแล้ว จงให้สัททะสัญญาสาธุการ ขึ้นพร้อมกัน เทอญ. (พระสงฆ์รับ สาธุพร้อมกัน)
แบบกรรมวาจาสวดให้ผ้ากฐิน
(ตั้งนะโมฯ พร้อมกัน ๓ หน)
สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ, อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง, ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง, สังโฆ, อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัส๎มะโต (.....) ภิกขุโณ ทะเทยยะ, กะฐินัง อัตถะริตุง, เอสาญัตติ,
สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ, อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง, สังโฆ, อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัส๎มะโต (.......)เทสิ, กะฐินะ อัตถะริตุง ยัสสายัส๎มะโต ขะมะติ อิมัสสะ กะฐินะ ทุสสัสสะ,อายัส๎มะโต (...) ภิกขุโณ ทานัง, กะฐินัง อัตถะริตุง, โส ตุณ๎หัสสะยัสสะ นักขะมะติ, โสภาเสยยะ,;
ทินนัง อิทัง สังเฆนะ, กะฐินะทุสสัง อายัส๎มะโต (.......) ภิกขุโณ, กะฐินัง อัตถะริตุง, ขะมะติ สังฆัสสะ ตัส๎มา ตุณ๎หี เอวะเมตัง ธาระยามิ.
(หมายเหตุ ในวงเล็บนั้นให้ใส่ชื่อผู้ครองกฐินเป็นภาษาบาลี)

การอปโลกน์เพื่อให้ผ้ากฐิน และการกรานกฐิน ทั้ง ๒ อย่างนี้ จะทำภายในสีมา หรือนอกสีมาก็ได้ทั้งนั้น. แต่การสวดญัตติทุติยกรรมวาจาให้ผ้ากฐินนั้น ต้องทำภายในสีมาอย่างเดียวเท่านั้นทำนอกสีมาไม่ได้